

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ที่ถูกพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้หลากหลายรูปแบบ เกิดเป็นคำถามสำหรับใครหลายคนว่า “โลกของเราในวันข้างหน้า จะมี AI เข้ามาทำงานแทนคนได้จริงไหม?”
เราชวนมาหาคำตอบ รวมถึงชวนทีมผู้พัฒนา AI ของ deeple มาร่วมแชร์มุมมองทั้งปัจจุบันและอนาคตของเทคโนโลยี AI ไปพร้อมกัน
สรุปแบบง่ายๆ คือ AI ทำงานด้วยการที่มนุษย์เอาข้อมูลที่มีการเตรียมไว้มาให้เรียนรู้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้หลักทางคณิตศาสตร์อย่างสถิติและความน่าจะเป็น ในการจัดกลุ่มข้อมูลและหาคำตอบ เพื่อให้ AI สามารถทำอะไรบางอย่างออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งในการสอน AI เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แต่ละอย่างได้นั้น จะอาศัยเทคนิค หรือวิธีต่าง ๆ เข้ามาช่วย อย่างที่เคยได้ยินกัน เช่น Machine Learning, Deeple Learning, Transfer Learning เป็นต้น
ตัวอย่างเทคโนโลยี AI ที่เป็นที่พูดถึงในช่วงนี้อย่าง ChatGPT เป็น AI Language Model ที่ใช้การทำงานของ AI ในรูปแบบเดียวกัน นั่นคือการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลลงไปในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อผ่านการเรียนรู้ด้วยหลักคณิตศาสตร์ แต่จะมี Probability Model หรือโมเดลความน่าจะเป็นที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น ทำให้สามารถเรียนรู้ข้อมูลและหาคำตอบได้จำนวนมาก
การทำงานของเทคโนโลยี AI Language Model เป็นเช่นเดียวกับที่ deeple เองใช้พัฒนา AI แชทบอทและระบบจัดการร้านค้า ผ่านการสร้างโมเดลทางภาษาขึ้นมากเพื่อให้ AI เรียนรู้ประโยคและบทสนทนาภาษาไทยที่เกี่ยวกับการขายออนไลน์จำนวนมาก โดยเฉพาะประโยคที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่ถูกเขียนออกมาคนละแบบ เพื่อให้ AI สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้า นำไปสู่การเสนอขายสินค้า ปิดการขาย และตอบหลายๆ คำถามได้เอง
“AI lacks of thinking outside the box” เป็นหนึ่งในจากหลายเหตุผลที่หลายคนต่างคิดว่า AI ไม่สามารถแทนคนได้ในตอนนี้ นั่นก็เพราะว่าการสอน AI คือการนำข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาให้ AI เรียนรู้แล้วแสดงผลลัพธ์ออกมาผ่านการเรียนรู้ในเงื่อนไขที่มนุษย์กำหนด ในขณะที่หากเป็นการเรียนรู้ของมนุษย์ จะมีปัจจัยแวดล้อมมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ทำให้มนุษย์สามารถคิด วิเคราะห์ เกิดเป็นผลลัพธ์หรือไอเดียใหม่ๆ ได้มากกว่า
และยังมีข้อจำกัดเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งในแต่ละวัน มนุษย์คนหนึ่งสามารถรับข้อมูลได้เฉลี่ย 34 GB หรือประมาณ 1 แสนคำต่อวัน (เทียบเป็นวินาทีแล้วอยู่ที่ 23 คำต่อวินาที) และหากเรียนรู้แล้วเกิดข้อผิดพลาดก็สามารถแก้ไขได้ในทันที
ในขณะที่หากเป็นการสร้าง AI ที่สามารถรับข้อมูลจำนวนมากเทียบเท่ามนุษย์ให้ได้นั้นต้องอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ที่รองรับ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการเทรนข้อมูลเข้าไปให้มากที่สุด และหากมีการสอนที่ผิดพลาด ระบบจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขนานกว่ามนุษย์ นั่นทำให้การใช้ AI แทนมนุษย์แบบ 100% อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
คุณอาร์ม-คณิน ศิริสิทธิ์ Chief Technology Officer (CTO) หรือหัวหน้าทีมพัฒนา AI ของ deeple ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การเข้ามาของ AI เป็นการช่วยงานมนุษย์มากกว่าจะแทนที่ เดิมทีเราจะเข้าใจว่า AI สามารถทำงานที่เป็นงานซ้ำๆ แทนมนุษย์ได้ แต่การเข้ามาช่วยทำงานตรงนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการแทนตำแหน่งงานของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ที่ช่วยให้ทำงานได้มากขึ้น
“สำหรับการทำงานของ AI ในมุมของ deeple เรามองว่าหากปกติแอดมินคนหนึ่งสามารถรับลูกค้าได้วันละ 10 คน หากมี AI เข้ามาช่วยอาจจะทำให้รับลูกค้าได้วันละ 1,000 คน เพราะ AI ไปช่วยทำงานแทนในส่วนที่ซ้ำๆ เช่น เสนอขายสินค้า ตอบคำถามที่มีคนถามเข้ามาบ่อยๆ ส่วนคนก็มีเวลาเหลือไปทำงานส่วนอื่นๆ ที่ใช้ทักษะมากกว่าให้ดีขึ้น”
นอกจากคำว่า Artificial Intelligence หรือ AI แล้ว บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Artificial General Intelligence (AGI), Artificial Superintelligence (ASI) และ Artificial Narrow Intelligence (ANI) ซึ่งเป็นขั้นกว่าของเทคโนโลยี AI ในอนาคตที่จะมีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ได้มากที่สุด จนอาจฉลาดกว่ามนุษย์โดยไม่ต้องผ่านการสอนด้วยข้อมูลจำนวนมากแบบในปัจจุบัน และสามารถเกิดทักษะใหม่ๆ ได้เองโดยแทบจะไม่ต้องพึ่งพาการสอนของมนุษย์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น AGI และ ASI ยังล้วนแล้วแต่เป็น Abstract Concept หรือแนวคิดนามธรรมที่ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มาข้อมูล