E-Commerce
คู่มือวางแผนภาษีสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ปี 2566
ผ่านมา 3 เดือนแรกของปีแล้ว อีกหนึ่งเช็กลิสต์ที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ต้องรีบวางแผนให้ดีเพื่อให้การขายออนไลน์นั้นราบรื่นก็คือ “การวางแผนภาษี” นั่นเอง วันนี้เราสรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับการวางแผนภาษีของคนขายของออนไลน์มาฝากกัน
Avatar
Min Natjanan
 • 23 March 2023
คู่มือวางแผนภาษีสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ปี 2566

ผ่านมา 3 เดือนแรกของปีแล้ว อีกหนึ่งเช็กลิสต์ที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ต้องรีบวางแผนให้ดีเพื่อให้การขายออนไลน์นั้นราบรื่นก็คือ “การวางแผนภาษี” นั่นเอง วันนี้เราสรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับการวางแผนภาษีของคนขายของออนไลน์มาฝากกัน

ร้านค้าออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหน

คู่มือภาษีแม่ค้าออนไลน์ 3.jpg

กรณีเป็นบุคคลธรรมดา เจ้าของร้านค้าออนไลน์ต้องยื่นภาษี 2 รอบ ได้แก่ ภง.ด. 90 ที่มีกำหนดยื่นทุกต้นปี ช่วงเดือนม.ค. - มี.ค. และยื่น ภง.ด. 94 ทุกช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. โดยที่การยื่น ภง.ด. 94 เป็นการยื่นรายได้ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมาโดยไม่ต้องรวมรายรับจากงานประจำ

กรณีเป็นบริษัท นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน จำเป็นต้องยื่น ภง.ด. 51 ทุกๆ 6 เดือน โดยมีระยะเวลาอีก 2 เดือนหลังจากทำธุรกิจครบ 6 เดือนในการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นภาษีนิติบุคคล และยื่น ภง.ด. 50 ทุกๆ ต้นปี (ภายใน 150 วันหลังขึ้นปีใหม่) สำหรับรายรับตลอดทั้งปี หรือแม้ว่าธุรกิจจะไม่มีรายรับหรือกำไรก็ตาม

นอกจากนี้ หากเป็นร้านค้าออนไลน์ที่มียอดขายตลอดทั้งปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องมีการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกวันที่ 15 ของเดือน

วิธีคำนวณภาษีสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

คู่มือภาษีแม่ค้าออนไลน์ 4.jpg

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีรูปแบบรายรับแตกต่างกัน วิธีคำนวณอัตราภาษีก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

สำหรับบุคคลธรรมดา ใช้สูตร “รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = รายได้สุทธิ”
สำหรับนิติบุคคล ใช้สูตร “รายได้รวม - ค่าใช้จ่ายรวม = กำไรสุทธิ”

แล้วจึงนำรายได้สุทธิและกำไรสุทธิไปคิดอัตราภาษีตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด

เช็กอัตราภาษี

คู่มือภาษีแม่ค้าออนไลน์ 1.jpg

วิธีคำนวณค่าใช้จ่ายก่อนยื่นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

คู่มือภาษีแม่ค้าออนไลน์ 5.jpg

นอกจากการคำนวณรายรับที่ต่างกันแล้ว การคำนวณรายจ่ายก็ต่างด้วยเช่นกัน โดยสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 รูปแบบคือ

หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา (60% ของยอดขาย)

หักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องมีหลักฐานแสดค่าใช้จ่ายตามจริง)

ส่วนกรณีของนิติบุคคลจะคิดค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี หรือเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายต้องห้ามเท่านั้น

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาคิดภาษีได้ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าซื้อสินค้าเพื่อนำมาขาย ค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายต้องห้าม เช่น ค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับบริษัท หรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของกิจการ รายจ่ายให้กับบริษัทแม่หรือลูก รายจ่ายค่าปรับ เป็นต้น

ค่าลดหย่อนภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ยื่นรายรับแบบบุคคลธรรมดา สามารถดูจากเกณฑ์การลดหย่อนภาษีได้จากเกณฑ์ทั่วไป เช่น โครงการช้อปดีมีคืน การซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรสต่างๆ 

ในขณะที่หากเป็นนิติบุคคลจะมีอีกเกณฑ์ในการคำนวณค่าลดหย่อนภาษี เช่น การบริจาค การจ้างแรงงานผู้สูงอายุ การจัดอบรมพนักงาน ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน และนอกจากนี้ หากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายรับไม่เกินปีละ 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า นาน 5 รอบบัญชี (5 ปี) ต่อเนื่องกัน

เมื่อเข้าใจข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษี สามารถวางแผนภาษีในแต่ละรอบบัญชีด้วยการประมาณการยอดขายและค่าใช้จ่ายจากงบการเงินหลายปีก่อนหน้า วางแผนการลดหย่อน รวมทั้งเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ ไว้สำหรับการยื่นภาษีในรอบต่อไป

ที่มาข้อมูล

https://www.lntaccount.com/2017/08/income-tax-50-51.html

https://www.getinvoice.net/half-year-tax

https://www.accountingcenter.co

https://www.itax.in.th

https://www.accountingcenter.co